วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

หมวด (ย)

ย้อมแมวขาย


หมายถึง ตกแต่งคนหรือของที่ไม่ดีหรือมีค่าน้อยโดยเจตนาจะ

หลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าดี

สมัยก่อนคนไทยนิยมหาแมวที่มีลักษณะดีมาเลี้ยงโดย
ถือว่าให้คุณ การเลี้ยงก็เลี้ยงอย่างดี กาญจนาคพันธุ์อ้างตำราแมว

ของโบราณว่า

ถนอมเลี้ยงดังบุตรสุดสวาทดิ์ อย่าเกรี้ยวกราดรังเกียจคิดเดียดฉันท์

ให้อาบน้ำเช้าเย็นอย่าเว้นวัน เอาแป้งจันทน์หอมฟุ้งบำรุงทา

บางคนอาบน้ำแมวแล้วทาขมิ้นเหลือง บางคนทาขมิ้นกับ

ปูนแดงทั้งตัว เหมือนย้อมแมวให้เป็นสีต่างๆสำนวน “ย้อมแมวขาย”

จึงอาจจะมาจากสาเหตุนี้ก็ได้

โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อธิบายความหมายว่า

จับแมวมาลูบล้าง สอดสี

ขายส่งแสนอัปรีย์ ชั่วช้า

เป็นคนคิดเอาดี โดยร่อน ร่อนเฮย

ขายอื่นบ่คิดค้า คิดย้อมแมวขาย

ตัวอย่าง

“นายหน้าหาหญิงสาวมาขึ้นเวทีประกวดนางงามทุกวันนี้

บางคนก็ ย้อมแมวขาย เราดูไม่ออกหรอกว่านางสาวจริงหรือเปล่า”


ยื่นแก้วให้วานร


หมายถึง เอาของมีค่าให้แก่คนที่ไม่รู้ค่าของสิ่งนั้น

โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อธิบายความหมายว่า

ส่งเครื่องประดับให้ วานร

ฤๅจักอาจอาภรณ์ ผูกใช้

อย่าควรส่งสังวร โอวาท

ให้พวกพาลบอดใบ้ ไป่รู้รักษา

ตัวอย่าง

เพชรอย่างดีมีค่าราคายิ่ง ส่งให้ลิงจะรู้ค่าราคาหรือ

ต่อผู้ดีมีราคาจึงหารือ ให้เขาลือเสียว่าชายนี้ขายเพชร

(อิศรญาณภาษิต)

โอ้เจ้าวันทองของพี่เอ๋ย ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นเช่นนี้ได้

เสียยศเสียศักดิ์สักเท่าไร ดังดวงแก้วไปได้กับวานร

(ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนต่อว่านางวันทอง)


ยื่นหมูยื่นแมว


หมายถึง แลกกันทันทีทันใดไม่ให้เสียเปรียบกัน

ตัวอย่าง

รักจริงฤๅเจ้าเณรจะแกล้งรัก เห็นหนักนักนีดเน้นเข้าเป็นชั่ง

ข้ากลัวแต่ได้คนสินบนยัง จะร้องทวงโด่งดังก็ใช่ที

ถ้าจริงจังดังนั้นเจ้าเณรแก้ว มายื่นแมวยื่นหมูให้รู้ที่

เจ้ารักษาสัตย์ไว้ให้จงดี พรุ่งนี้เจ้าเณรมาฟังดู

(ขุนช้างขุนแผน ตอน สายทองเป็นสื่อให้นางพิม)

“เรามา ยื่นหมูยื่นแมว กัน ฉันให้เธอยืมหนังสือการ์ตูนเธอ

ให้ฉันยืมเกมนะ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น