วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

สำนวนไทยสุภาษิต

สำนวนไทย


ความหมายของสำนวน

สำนวน คือ คำพูดเป็นขั้นเชิง ไม่ตรงไม่ตรงมา แต่ใช้มีความหมายในคำพูดนั้นๆ

สำนวน หมายถึง สำนวน หรือถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นเป็น โวหาร บางทีก็ใช้ว่า สำนวนโวหาร คำพูดของมนุษย์เราไม่ว่าจะชาติใดหรือภาษาใด แยกออกได้กว้างๆ เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งพูดตรงไปตรงมาตามภาษาธรรมดา พอพูดออกมาก็เข้าใจกันได้ทันที อีกอย่างหนึ่งพูดเป็นชั้นเชิงไม่ตรงไปตรงมา แต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้นๆ ผู้ฟังอาจเข้าใจความหมายทันที หรืออาจจะไม่เข้าใจความหมายโดยทันที ต้องคิดจึงจะเข้าใจ หรือบางทีคิดแล้วเข้าใจอย่างอื่นก็ได้ หรือไม่เข้าใจเลยก็ได้ คำพูดเป็นชั้นเชิงนี้ เราเรียกกันว่า สำนวน คือ คำพูดเป็นสำนวน ชาวบ้านจะเรียกว่า พูดสำบัดสำนวน
สำนวน คือ 1 “โวหาร ถ้อยคำที่เป็นข้อความพิเศษ คือ มีขั้นเชิงของความหมายให้ขบคิด”
สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่มิได้มีความหมายตรงไปตรงมาตามตัวอักษร หรือแปลตามรากศัพท์ แต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมาย เป็นอย่างอื่น คือ เป็นชั้นเชิงชวนให้คิด ซึ่งอาจเป็นไปในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างเด่นชัด
สำนวน หมายถึง ถ้อยคำในภาษาไทยที่ใช้ในการพูดจาสื่อสารกัน โดยมีความหมายเป็นนัย ไม่แปลความหมายของคำตรงตัว มักจะแปลความหมายในเชิงอุปมาเปรียบเทียบ
สำนวน คือ หมู่คำที่ไพเราะคมคาย เป็นคำพูดสั้น ๆ แต่มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งชวนให้คิด เป็นถ้อยคำที่เรียบเรียง,โวหาร,บางที่ใช้คำว่าสำนวนโวหาร, เป็นถ้อยคำที่ไม่ถูกไวยากรณ์แต่ใช้เป็นภาษาที่ถูกต้อง การแสดงถ้อยคำออกมาจะเป็นข้อความพิเศษเฉพาะของแต่ละภาษา แต่ทุกถ้อยคำก็ไพเราะ

หมวด (ร)

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี


หมายถึง รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี

จะเลี้ยงดูลูกให้ดีต้องดูแลใกล้ชิด ไม่ปล่อยปละละเลย

สำนวนนี้บางทีใช้ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้เฆียน”

ตัวอย่าง

“พ่อแม่บ้านนั้นเขาดีนะ ไม่เคยให้ท้ายลูกเลย เวลาลูกทำผิด

ก็ว่ากล่าวตักเตือนหรือลงโทษ เข้าทำนอง รักวัวให้ รักลูกให้ตี”


รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง

หมายถึง ทำไม่ดีหรือทำผิดไม่ยอมรับกลับโทษคนอื่นในการฟ้อนรำ ลีลาท่ารำต้องให้เข้ากับปี่กลอง บางคนเมื่อ

รำไม่ถูกจังหวะกลับไปโทษว่าปี่และกลองผิดจังหวะ

สำนวนนี้บางทีใช้ว่า “รำไม่ดีโทษปี่พาทย์” หรือ “รำชั่วโทษพาทย์”

ซึ่งบางทีกล่าวต่อไปว่า “รำชั่วโทษพาทย์ ขี้ราดโทษล่อง”

โคลงสุภาษิตเก่าอธิบายความหมายว่า

รำชั่ว ตัวบ่งเชื้อ ชาตรี

โทษพาทย์ ว่าพลาดตี บ่ต้อง

ขี้ราด ชาติอัปรีย์ แปรพากย์

โทษล่อง ช่องชั่วพร้อง เพราะนั้นใครเห็น

ตัวอย่าง

“เธอทำอาหารไม่อร่อยแล้วเธอโทษว่าตำรากับข้าวเขียน

มีดี รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ได้ยังไง”


รักพี่เสียดายน้อง


หมายถึง ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไหนดี

ตัวอย่าง

ถ้าเจอจะเอออวยไปด้วยพี่ จะเสียทีไม่ถนัดขัดข้อง

เสมือนหนึ่งรักพี่เสียดายน้อง ถ้ำทองเป็นสุขสนุกสบาย

(ไกรทอง ตอน นางวิมาลาจะตามไกรทองขึ้นมา)

ตัวอย่าง

“เสื่อสองตัวนี้สวยพอกัน ฉันตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกตัวไหนดี

ประเภท รักพี่เสียดายน้อง น่ะเธอ”

หมวด (ย)

ย้อมแมวขาย


หมายถึง ตกแต่งคนหรือของที่ไม่ดีหรือมีค่าน้อยโดยเจตนาจะ

หลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าดี

สมัยก่อนคนไทยนิยมหาแมวที่มีลักษณะดีมาเลี้ยงโดย
ถือว่าให้คุณ การเลี้ยงก็เลี้ยงอย่างดี กาญจนาคพันธุ์อ้างตำราแมว

ของโบราณว่า

ถนอมเลี้ยงดังบุตรสุดสวาทดิ์ อย่าเกรี้ยวกราดรังเกียจคิดเดียดฉันท์

ให้อาบน้ำเช้าเย็นอย่าเว้นวัน เอาแป้งจันทน์หอมฟุ้งบำรุงทา

บางคนอาบน้ำแมวแล้วทาขมิ้นเหลือง บางคนทาขมิ้นกับ

ปูนแดงทั้งตัว เหมือนย้อมแมวให้เป็นสีต่างๆสำนวน “ย้อมแมวขาย”

จึงอาจจะมาจากสาเหตุนี้ก็ได้

โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อธิบายความหมายว่า

จับแมวมาลูบล้าง สอดสี

ขายส่งแสนอัปรีย์ ชั่วช้า

เป็นคนคิดเอาดี โดยร่อน ร่อนเฮย

ขายอื่นบ่คิดค้า คิดย้อมแมวขาย

ตัวอย่าง

“นายหน้าหาหญิงสาวมาขึ้นเวทีประกวดนางงามทุกวันนี้

บางคนก็ ย้อมแมวขาย เราดูไม่ออกหรอกว่านางสาวจริงหรือเปล่า”


ยื่นแก้วให้วานร


หมายถึง เอาของมีค่าให้แก่คนที่ไม่รู้ค่าของสิ่งนั้น

โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อธิบายความหมายว่า

ส่งเครื่องประดับให้ วานร

ฤๅจักอาจอาภรณ์ ผูกใช้

อย่าควรส่งสังวร โอวาท

ให้พวกพาลบอดใบ้ ไป่รู้รักษา

ตัวอย่าง

เพชรอย่างดีมีค่าราคายิ่ง ส่งให้ลิงจะรู้ค่าราคาหรือ

ต่อผู้ดีมีราคาจึงหารือ ให้เขาลือเสียว่าชายนี้ขายเพชร

(อิศรญาณภาษิต)

โอ้เจ้าวันทองของพี่เอ๋ย ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นเช่นนี้ได้

เสียยศเสียศักดิ์สักเท่าไร ดังดวงแก้วไปได้กับวานร

(ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนต่อว่านางวันทอง)


ยื่นหมูยื่นแมว


หมายถึง แลกกันทันทีทันใดไม่ให้เสียเปรียบกัน

ตัวอย่าง

รักจริงฤๅเจ้าเณรจะแกล้งรัก เห็นหนักนักนีดเน้นเข้าเป็นชั่ง

ข้ากลัวแต่ได้คนสินบนยัง จะร้องทวงโด่งดังก็ใช่ที

ถ้าจริงจังดังนั้นเจ้าเณรแก้ว มายื่นแมวยื่นหมูให้รู้ที่

เจ้ารักษาสัตย์ไว้ให้จงดี พรุ่งนี้เจ้าเณรมาฟังดู

(ขุนช้างขุนแผน ตอน สายทองเป็นสื่อให้นางพิม)

“เรามา ยื่นหมูยื่นแมว กัน ฉันให้เธอยืมหนังสือการ์ตูนเธอ

ให้ฉันยืมเกมนะ”

หมวด (ม)

มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ


หมายถึง ไม่ช่วยทำงานแล้วยังกีดขวาง ทำให้งานไม่ก้าวหน้าเอาเท้าราน้ำ หมายถึงห้อยเท้าลงไปในน้ำ ทำให้เรือแล่นช้าลง
โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อธิบายความหมายว่า
มือมีไม่ถ่อทั้ง ไม่พาย
เท้ารอราน้ำกระจาย ชักช้า
เขากอบกิจขวาย ขวนอยู่ ไฉนนา
กล่าวขัดขวางทางถ้า ถ่องแท้อย่าทำ
ตัวอย่าง

“เขาไม่ช่วยทำงานสักอย่าง แล้วยังคอยคัดค้านทุกเรื่อง
คนอะไร มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ”

แมงเม่าบินเข้ากองไฟ


หมายถึง คนที่เข้าไปหาเรื่องตายหรือหาหายนะอย่างโง่เขลา
ที่มา แมงเม่ามักตายเพราะชอบบินเข้าไปเล่นไฟ
โคลงสี่สุภาพประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอธิบายความหมายว่า
แมลง ค่อมมอมมืดหน้า นึกไฉน
เม่า หมิ่นยินร้ายไฟ รุ่งฟ้า
เข้าเปลวลวกประลัย ลาญชีพ เปล่าเฮย
ไฟ ดังบาปกรรมเกล้า ลวกผู้พาลเขลา

มดแดงแฝงพวงมะม่วง

หมายถึง ชายที่เฝ้าปองรักหญิงมานาน คอยกันท่าชายอื่น แต่ตัวเองก็ไม่สมหวัง
ที่มา มดแดงมักจะทำรังและไต่ตามผลมะม่วงแต่มิได้กินและไม่รู้รสมะม่วง แต่เมื่อมีใครมาเก็บมดแดงจะกัด
โอ้อนาถวาสนาพี่หาไม่ จึงมิได้ชิดเชื่อแม่เนื้อหอม
เหมือนมดแดงแฝงพวงมะม่วงงอม เที่ยวไต่ตอมเต็มอยู่มิรู้รส

หมวด (ฟ)

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด


หมายถึง ฟังเรื่องราวไม่ชัดเจน แล้วนำไปพูดหรือทำอย่างผิดพลาด กระเดียด คือ กิริยาที่นำสิ่งของไปโดยเอาเข้าข้างสะเอว
ในที่นี้ หมายถึง นำไปพูดต่อ

ตัวอย่าง

“ข้อเสียของคนไทยชั้นใหม่นี้มีอยู่ที่สำคัญคือสิ่งใดที่เป็น
ของเก่าจะทิ้งเสียให้หมด แต่ของใหม่ก็ไม่มีมาแทน ได้ยินฝรั่งเขา พูดอะไร ได้ยินแว่วๆ ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด เขาพูดก็พูดไปบ้างอย่างนั้นเอง
(ปลุกใจเสือป่า)

“เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาใหญ่โต ก็เพราะพวกที่ ฟังไม่ได้
ศัพท์จับไปกระเดียด นี่เอง”

ฟังหูไว้หู


หมายถึง รับฟังเรื่องราวจากหลายๆฝ่ายให้ทั่วก่อนตัดสิน
โคลงสุภาษิตประจำภาพในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อธิบายความหมายว่า
ความสิ่งใดเล่าล้น เหลือครู
ควรตริตรองชั่งชู เที่ยงแท้
ฟังหูหนึ่งไว้หู หนึ่งชอบ
หูไม่เบาความแม้ แม่นแล้วเลิศคุณ

ตัวอย่าง

จงฟังหูไว้หูคบผู้คน สืบยุบลเสียให้แน่อย่าแร่ไป
(สุภาษิตสอนหญิง)
อนึ่งนางสาวใช้ในปราสาท ถ้าพลั้งพลาดเล็กน้อยค่อยไต่ถาม
จงไว้หูฟังหูอย่าวู่วาม พูดให้งามไพร่ผู้ดีมีเมตตา
(พิเภกสอนบุตร)
“นี่เธอ ฟังหูไว้หู ก่อนก็จะดีนะ อย่าเพิ่งหูเบาไปเชื่อที่เขา
เดี๋ยวแฟนเธอกลับมาค่อยว่าเรื่องที่เขาเล่านั้นจริงหรือเปล่า”

หมวด (พ)

พกหินดีกว่าพกนุ่น

หมายถึง ใจหนักแน่นมั่งคงดีกว่าใจเบา หินเป็นของหนักเปรียบเหมือนใจที่หนักแน่น นุ่นเป็นของเบาเปรียบเหมือนใจที่ไม่หนักแน่น
เมื่อแรกเห็นจะเป็นจิรังกาล มิรู้พาลพวกพกกระเชอนุ่น
โอ้ชีวิตเห็นจะปลิดลงเป็นจุณ จะสิ้นบุญปลดปลงลงม้วยมุด

พร้างัดปากไม่ออก


หมายถึง มีอุปนิสัยไม่ชอบพูด
สำนวนนี้เปรียบคนที่ไม่พูดว่าปิดปากสนิท แม้จะใช้มีดงัดปากก็ไม่ยอมเปิดปาก
สำนวนนี้บางครั้งใช้ว่า”พร้าคัดปากไม่ออก”
ลูกข้าพร้าคัดปากไม่พูดออก อยู่บ้านนอกไม่ทะเลาะกับใครได้
เพื่อนฝูงเขาด่าว่ากระไร ก็เอาแต่ร้องไห้ไม่เถียงเป็น

พุ่งหอกเข้ารก




หมายถึง ทำอย่างลวกๆ ให้เสร็จโดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมาการพุ่งหอกเข้ารกซึ่งมองไม่เห็นที่หมาย ย่อมไม่ได้ประโยชน์ซ้ำยังเสียประโยชน์อีกด้วย

พุ่งหอกเข้ารกแล้ว หลีกหนี
ใจด่วนควรการดี บ่ได้
ผิดถูกไป่ทราบมี จิตต์มัก ง่ายนา
เอาแต่เสร็จการไซร้ ชุ่ยพ้น


พระยาเทครัว


หมายถึง ชายที่ได้ญาติพี่น้องของภรรยามาเป็นภรรยาอีกคำว่าเทครัว แต่เดิมหมายถึงกวาดต้อนผู้คนในเมืองที่ตนรบชนะมาเป็นเชลยทั้งครอบครัว ส่วนความหมายของสำนวนนี้ที่ใช้ในปัจจุบันมีที่มาจากการที่หัวหน้าครอบครัวซึ่งเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ได้ญาติพี่น้องและบริวารในบ้านเกือบทั้งครอบครัวมาเป็นภรรยาจึงเปรียบเป็นพระยาเทครัว

ตัวอย่าง

“อย่าเจ้าชู้ไปนักเลย หมดสมัย พระยาเทครัว แล้ว”


พูดจนลิงหลับ



       หมายถึง พูดมากจนผู้ฟังเบื่อ
สำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงคือ “พูดเป็นน้ำไหลไฟดับ
“คนขายประกันชีวิตคนนั้น พูดจนลิงหลับ ลูกค้าเบื่อกันทั้งนั้น”

หมวด (บ)

บ้านแตกสาแหรกขาด
หมายถึง เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวหรือในบ้านเมืองทำให้ต้องกระจัดกระจายพลัดพรากกัน

สาแหรก คือ เครือญาติซึ่งเปรียบเหมือนสายสาแหรก

ตัวอย่าง
“เธอถอนตัวออกมาเสียดีกว่า อย่าทำตัวเหมือนเป็นมือที่สามยุยง
ให้เขาบ้านแตกสาแหรกขาดเลย จะบาปกรรมเปล่าๆ”

บ่างช่างยุ

 

หมายถึง คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกันบ่างเป็นสัตว์รูปร่างคล้ายกระรอก มีหนังพังผืดข้างลำตัวคล้ายปีก ถลาร่อนลงมาจากที่สูงได้ สำนวนนี้มาจากนิทานสุภาษิตที่เล่าว่าบ่างเที่ยวพูดยุนกกับหนูมิให้รับค้างคาวเป็นพวก



ตัวอย่าง
“ไม่มีใครอยากคบกับเธอ เพราะเธอเป็นบ่างช่างยุ ชอบ
พูดให้เขาผิดใจกันเสมอ”

บ้านนอกคอกนา


หมายถึง ไม่ใช่ชาวกรุงหรือชาวเมือง ขอก เป็นภาษาถิ่นเหนือหมายถึงเขต แดน ริม ขอบเจ้านายหรือชนชั้นสูงในเมืองหลวงมักเรียก ชาวบ้านสามัญที่อยู่ห่างไกลความเจริญว่าพวกบ้านนอกขอกนาสำนวนนี้บางทีใช้ว่า “บ้านนอกคอกนา”

ตัวอย่าง
เมื่อนั้น พระสังข์ทองร้องห้ามคนถือหวาย
ช่างเถิดหนาเสนาอย่าวุ่นวาย ตายายชาวบ้านนอกขอกนา
(สังข์ทอง ตอน ท้าวยศวิมลและนางจันทร์เทวีปลอมตัวไปหาพระสังข์)
ด้วยเป็นชาวนานอกขอกนา กิริยาพาทีหาดีไม่
ถ้าจะผิดพลั้งบ้างเป็นไร เจ้าก็ไม่ด่าตีศรีมาลา
(ขุนช้างขุนแผน ตอน พระพิจิตรตัดพ้อต่อว่าพลายงาม)








หมวด (ป)

ปล่อยนกปล่อยปลา


หมายถึง ปล่อยให้เป็นอิสระพ้นจากการผูกมัดผู้ที่อยู่ใต้อำนาจนั้นเปรียบเหมือนนกกา ปล่อยไปก็ได้บุญ สำนวนนี้บางทีใช้ว่า “ปล่อยลูกนกลูกกา”

ตัวอย่าง
ไม่พอทีที่หม่อมจะกินเดน มันนอกเกณฑ์ดอกไม่สมเสมอหน้าอย่าวนเวียนระไวอยู่ไปมา เหมือนปล่อยนกปล่อยปลาให้ปลอดไป
(ขุนช้างขุนแผน ตอน นางวันทองประชดขุนแผน)
“ลูกจ้างบ้านฉันอยากจะลาออก แต่ยังติดค้างเงินที่เบิก
ล่วงหน้าไป จะรั้งไว้ก็ป่วยการ นึกว่าปล่อยนกปล่อยกาไปก็แล้วกัน”


ปั้นน้ำเป็นตัว


หมายถึง โกหก สร้างเรื่องโดยไม่มีมูลความจริง

น้อยหรืออีเฒ่าเจ้าความคิด ทุจริตอิจฉาขายหน้าผัว
เสกสรรปั้นน้ำเป็นตัว เอออะไรไม่กลัวเขานินทา



หมวด(ต)

ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ



ที่มา จากการกระทำหรือกิริยาอาการของมนุษย์


ความหมาย การกระทำอะไรสักอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมดุลกัน หรือ ใช้จ่ายทรัพย์ลงทุนไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เช่น ลงทุนเล็กน้อยเพื่อทำงานใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินมากๆ ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ง่าย ต้องสูญทุนไปเปล่าๆ เปรียบเหมือนตำน้ำพริกเพียงครกเดียว เอาไปละลายในแม่น้ำกว้างใหญ่ เมื่อละลายไปก็จะสูญหายไปหมดสิ้น ไม่ทำให้แม่น้ำเกิดอะไรผิดปกติขึ้น เสียน้ำพริกไปเปล่า

มนุษย์เราคิดการใหญ่มักลงทุน ช่วยอุดหนุนทุ่มทุนมหาศาล
เกิดกำหนดอัตรางบประมาณ ไม่คาดการณ์ล่วงหน้ามุ่งทำไป
ผลที่ได้กลับไม่ได้ดั่งใจคิด คาดการณ์ผิดงานล่มสุดแก้ไข
ต้องมลายกลายเป็นศูนย์ไม่สมใจ ภาษิตไทยตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเอย

ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา



หมายถึง ให้รูจักฐานะของตนเองและเจียมตัว

กะโหลก คือ ภาชนะที่ทำด้วยกะโหลกมะพร้าวโดยตัดทางตาออกพอดีเป็นช่องว่างเพื่อใช้ตักน้ำ

หมวด (น)

น้ำท่วมปาก





ความหมาย พูดไม่ออกเพราะเกรงจะมีภัยต่อตนเองและผู้อื่น

น้ำท่วมปากพูดมากไม่ได้หรอก เพราะถ้าบอกอาจเกิดเรื่องเสียหายเพราะเป็นผู้กุมความลับคนมากมาย เรื่องทั้งหลายเรารู้เพียงผู้เดียว

มันอึดอัดคับข้องอยู่ในอก จะโกหกมดเท็จก็หวาดเสียวกลัวคนอื่นจับได้ไม่ดีเชียว ความกลมเกลียวอาจหมดสิ้นเพราะพูดไป

น้ำขึ้นให้รีบตัก





     ที่มา ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ

               ความหมาย มีโอกาสดีควรรีบทำ
มีโอกาสอย่าปล่อยให้ผ่านเลย อย่าทำเฉยไม่คิดจะไขว่คว้า
กาลเวลาหมุนไปไม่คอยท่า มัวชักช้าควรรีบทำอย่าทิ้งนาน
ดังสำนวนน้ำขึ้นให้รีบตัก ควรจะชักนำโอกาสที่ผันผ่าน
ไม่ปล่อยผ่านเลยไปดั่งวันวาน รีบทำการต้องรีบทำทำทันที

หมวด (ท)

ทองไม่รู้ร้อน



หมายถึง การเฉยเมยไม่มีความรู้สึก ไม่มีปฏิกิริยารับรู้

ที่มา การทำทองจะต้องหลอมด้วยไฟที่ร้องจัดให้ทองอ่อนตัวก่อนจะนำไปแปรรูป จึงเป็นคำเปรียบประชดว่าเหมือนทองที่ไม่ยอมอ่อนตัวเมื่อถูกความร้อน

ทุนหายกำไรหด



หมายถึง หมดทั้งทุนหมดทั้งกำไร

หมวด (ฒ)

เฒ่าหัวงู


          หมายถึง ชายแก่เจ้าเล่ห์ ชอบหลอกเด็กสาวๆ
ที่มา งูเป็นสัตว์มีพิษอยู่ที่หัว หัวงูหมายถึงเล่ห์เหลี่ยม


หมวด (ด)

ดินพอกหางหมู




ที่มา ดินพอกหางหมูนั้น มาจากการสังเกตพฤติกรรมของหมู โดยปกติของหมูมักจะชอบนอนที่มีดิน หรือโคลน ชอบนอนกลิ้งไปกลิ้งมาจนดินติดที่หางของมัน ถ้ามันไม่สลัดดินที่หางออก ดินก็จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มันเดินและเคลื่อนไหลลำบาก และเป็นที่มาของดินพอกหางหมู

ความหมาย การทำสิ่งใดก็ตาม ถ้ามัวแต่ผัดวันประกันพรุ่งเพราะความเกียจคร้าน ไม่ทำให้สำเร็จเสียโดยเร็ว ปล่อยให้คั่งค้างทับถมมากเข้า งานก็จะเพิ่มขึ้นทุกที ทำเท่าไหร่ไม่มีเสร็จ หรือหมายถึง หนี้สินที่ไปก่อไว้ทีละเล็กทีละน้อยจนมากมาย ก็เรียกว่าเป็นดินพอกหางหมู เช่นกัน ดินพอกหางหมู หมายความในแง่ไม่ดีเท่านั้น การเก็บหอมรอมริบเงินทองจากน้อยให้เป็นมาก ไม่เรียกว่า ดินพอกหางหมู
หมูปวกเปียกขี้เกียจปัดปลดปล่อย ดินจากน้อยค่อยมากหนักนักหนา
นอนเกลือกกลิ้งคลุกโคลนคร่ำค้างคา จนกายาลุกไม่ขึ้นค่อยคลี่คลาย
เปรียบดั่งคนการงานไม่ยอมทำ เผ้าตรากตรำเมื่อจวนเจียนเวลาหมาย
หากยังทำเช่นนี้ต้องเหนื่อยกาย สิ้นสบายเพราะดินพอกหางหมู

หมวด (ช)

ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด



ความหมาย ความผิดหรือความชั่วร้ายแรงที่รู้กันทั่ว จะปิดอย่างไรก็ไมมิด

ที่มา ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ใบบัวจึงไม่พอที่จะปิดซากช้าง
โคลงสี่สุภาพประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอธิบายความหมายว่า
ช้างใดตายกลิ้งอยู่ ทั้งตัว
อุตริเก็บใบบัว ปิดไว้
ความร้ายกาจน่ากลัว ฟุ้งเฟื่อง
เสียทรัพย์เฟื่องไพให้ สงบฟุ้งฤๅฟัง

ช้าๆได้พล้าเล่มงาม




ความหมาย ค่อยๆคิดค่อยๆทำจึงจะสำเร็จด้วยดี

ที่มา พร้า คือ มีดใหญ่ โบราณใช้เป็นเครื่องมือสำหรับฟันในการตีมีดแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลานาน โดยค่อยๆ ตีเหล็กที่ร้อนทีละน้อยจนกว่าจะได้ใบมีดที่บางและคม

ชุบมือเปิป




ความหมาย ฉวยประโยชน์จากที่คนอื่นทำไว้แล้ว โดยไม่ได้ลงทุนลงแรง

ที่มา การกินอาหารสมัยก่อนใช้มือหยิบอาหาร เรียกว่าเปิป คนที่ไม่ช่วยทำหรือจัดอาหาร มาถึงก็นั่งลงชุบมือเปิป จึงเป็นคนที่ไม่ลงทุนลงแรงแต่ฉวยประโยชน์อย่างเดียว

หมวด (จ)

จับปลาสองมือ



ความหมาย ทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันอาจไม่สำเร็จสักอย่าง

ที่มา การจับปลาต้องจับที่ละตัวโดยใช้สองมือจับให้มั่น ถ้าจับพร้อมกันด้วยมือข้างละตัว ปลาอาจหลุดมือไปทั้งสองตัว
อย่าจับปลาสองหัตถ์จะพลัดพลาด จับให้ลงคงให้ขาดว่าเป็นผัว
จึงนับว่าคนดีไม่มีมัว ถ้าชายชั่วร้างไปมิใช่ชาย



จับงูข้างหาง





ความหมาย ทำสิ่งที่เสี่ยงอันรายโดยไม่รอบคอบ อาจพลาดพลั้งได้

ที่มา งูเป็นสัตว์มีพิษ ถ้าจับหางมันอาจแว้งกัดและรัดผู้จับให้ตายได้
สำนวนนี้มักใช้เป็นคำห้ามว่า”อย่าจับงูข้างหาง”
จะให้มันรับว่าจริงยิ่งยากนัก จะซ้ำซักข้างเดียวก็ไม่ได้
มาจับงูข้างหางผิดอย่างไป มันจึงว่าได้ทุกสิ่งอัน


จุดใต้ตำตอ



ความหมาย บังเอิญไปพูดหรือทำสิ่งใดกับบุคคลที่เป็นเจ้าของเรื่องนั้นโดยผู้พูดหรือผู้ทำไม่รู้

ที่มา ไต้ ใช้สำหรับจุดไฟให้สว่าง คนที่จุดไต้แล้วยังเดินชนตอ แสดงว่าไม่เห็นจริง
พระเอนเอกเขนกขึงรำพึงคิด ไม่แจ้งจิตเลยว่าเขามาขอ
เหมือนตามไต้ในน้ำมาตำตอ เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ






หมวด (ง)

โง่เง่าเต่าตุ่น




หมายถึง โง่มาก

ที่มา เต่าเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวช้า ตุ่นเป็นสัตว์ที่รูปร่างคล้ายหนู ชอบขุดรูอยู่ ชอบกินพืช เต่าและตุ่นมักถูกนำมาเปรียบกับคนโง่และคนเซ่อ เง่าหรือง่าว เป็นคำไทยเหนือแปลว่า โง่
“เพราะโง่เง่าเต๋าตุ่นพ่อคุณเอ๋ย ผู้ใดเลยประสงค์จำนงหมาย"


เงาตามตัว



หมายถึง ผลของการกระทำที่เกิดตามติดมาทันที หรือผู้ที่ไปไหนไปด้วยกันแทบไม่คลาดกันเลย

เงาในที่นี้หมายถึงเงาของคน สัตว์ หรือสิ่งของเมื่อเคลื่อนที่ เงาก็จะเคลื่อนตามไปด้วย
"พระคุณเอ่ย จะคิดดูมั่งเป็นไรเล่า ว่ามัทรีเป็นข้าเก่าแต่ก่อนมา ดังเงาตามพระบาทก็เหมือนกัน"
(มหาเวสสันดรชาดร ตอน นางมัทรีตัดพ้อพระเวสสันดรเมื่อกลับมาไม่พบสองกุมาร)

งมเข็มในมหาสมุทร



หมายถึง ค้นสิ่งที่ยากจะค้นหาได้ ทำกิจที่สำเร็จได้ยากยิ่ง

หมวด (ฆ)

ฆ่าช้างเอางา



  
 หมายถึง ทำลายสิ่งมีค่าเมื่อประโยชน์สิ่งเดียว

ฆ่า สัตว์ตัดชีพสู้ ทนเข็ญ
ช้าง ใหญ่เนื้อหนังเอ็น ห่อนเอื้อ
เอา ทิ้งธรณีเหม็น มุ่งแต่ งานา
งา นิดหนึ่งกว่าเนื้อ โฉดช้าน่าแสยง

หมวด (ค)

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น



งามสิ่งใดแม้ยากลำบากนัก อุปสรรคหนักหนาที่กีดขวาง

แสงปลายฝันรำไรไม่เห็นทาง จะก้าวย่างไปถึงฝันได้อย่างไร

มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างที่สุด ให้เรารุดข้ามผ่านไปจนได้

คือพยายามจงท่องจำให้ขึ้นใจ ถึงฝั่งฝันสำเร็จได้เพราะพยายาม

คางคกขึ้นวอ





           หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดีแล้วก็มักแสดงกิริยาอวดดีลืมตัว

      ที่มา คางคก เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีรูปร่างคล้ายกบแต่หนังหยาบขรุขระน่าเกลียด จึงมักเปรียบกันคนต่ำต้อย วอ เป็นยานที่มีหลังคาเป็นรูปเรื่องใช้คนหาม สมัยก่อนขุนนางมียศถาบรรดาศักดิ์จะเดินทางไปที่ใดมักจะนั่งวอ มีข้าทาส บริวารหาม

คนล้มอย่าข้าม





  หมายถึง อย่าดูถูกหรือซ้ำเติมคนที่พลาด สำนวนนี้บางทีใช้ว่า”ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม”

มีคำอธิบายในหนังสือสุภาษิตดังนี้

คน คราวเซซวดเย้ ยันกาย

ล้ม ระเนนนอนหงาย แผ่หล้า

อย่า มองมุ่งเมาหมาย ลุกไม่ ขึ้นเฮย

ข้าม หมิ่นประมาทหน้า ท่าขึ้นคงมี

หมวด (ข)

ไข่ในหิน


ความหมาย คนที่ถูกเลี้ยงอย่างทะนุทนอมเป็นอย่างดี แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เหมือนไข่ที่มีเปลือกบางแตกง่าย เปรียบเหมือนคนหรือสิ่งของที่เปราะบางต้องดูแลเป็นพิเศษ หินเป็นสิ่งที่แข็งแกร่ง เปรียบเหมือนการดูแลและปกป้องคุ้มครองจากพ่อแม่

ไข่ในหินได้ยินโบราณว่า สอนกันมาเนิ่นนานทุกยุคสมัย
ถนอมลูกฟูมฟักอย่างใส่ ใจ ยุงไม่ให้ไต่ไร ไม่ ให้ตอมทุกเวลา
ระวังภัยมิให้ใกล้ตัวลูก แม่พันผูกลูกด้วยรักเสน่หา
ไม่เคยทำให้ลูกเจ็บช้ำกายา ปรารถนาให้ลูกรักมีสุขเอย

ขว้างงูไม่พ้นคอ


         
 หมายถึง ทำอะไรแล้วผลร้ายย้อนกลับมาสู่ตัวเอง
ที่มา งูมีลำตัวยาวจึงม้วนรัดเหยื่อได้ง่าย ถ้าจับงูขว้างออกไปไม่พ้นตัว
มันอาจแว้งมารัดคอคนขว้างได้จะขว้างงูดูถูกอสรพิษ มันจะผิดพ้นคอไปข้างไหน
        แยบคายของเจ้าข้าเข้าใจ จูงมาจูงไปเป็นคนกลาง

เขียนเสือให้วัวกลัว





หมายถึง ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม เปรียบทียบโดยวาดรูปเสือให้วัวดูเขียนเสือเสือกส่งให้ วัวกลัว
วัวเพ่งเสือเส้นมัว บ่สะดุ้ง
เฉกชนโอ่อวดตัว โตขู่ เอาแฮ
เขาทราบโอ่อวดฟุ้ง เฟื่องรู้ฤๅเกรงใจ







 

หมวด(ก)

กบในกะลาครอบ


กบ หนึ่งประดุจได้ ผู้ตน
ใน ทิฐิของตน อยู่ไซร้
กะลา ครอบมืดมน ปิดคั่น จินตนา
ครอบ หยิ่งความคิดให้ ไป่กว้างโลกทัศน์
ที่มา มาจากคนที่ไม่รับรู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น อยู่แต่ในบ้านเหมือนกบที่โดนครอบด้วยกะลา

กระต่ายหมายจันทร์


ความหมาย ชายที่หลงรักหญิงที่สูงกว่าตนและไม่มีทางทีความรักจะสมหวัง

ที่มา กระต่ายคือชายที่มีฐานะต่ำต้อย ส่วนดวงจันทร์คือ หญิงงามผู้สูงศักดิ์
กระต่ายหมายมุ่งได้ ดวงเดือน
ตัวต่ำสกุลเหมือน ไพร่น้อย
อย่าคิดคู่สูงเฟือน สุดฝั่ง แสวงนา
อย่าใฝ่สูงจักด้อย ดักเดี้ยเสียตน

กระดูกสันหลังของชาติ


ความหมาย ส่วนสำคัญ,ส่วนที่เป็นพลังค้ำจุนมักหมายถึงชาวนา
                                ที่มา ประเพณีการทำนา
กว่าจะได้ข้าวสวยหอมมาสักจาน       น่าสงสารชาวนาเป็นหนักหนา
ไถหว่านเกี่ยวเฝ้ารักษาเป็นเวลา               เพื่อได้มาซึ้งข้าวให้เรากิน
จึงเปรียบเปรยได้เป็นสำนวนไทย            ตระหนักถึงคุณค่ามิสูญสิ้น
ให้สมกับหยาดเหงื่อที่ไหลริน            ของชาวนาทั่วถิ่นแผ่นดินไทย